ก้าวต่อไปของเสื้อแดงใจ อึ๊งภากรณ์

Image removed.

ปัญหาเฉพาะหน้า

ปัญหาสำคัญเฉพาะหน้าที่คนเสื้อแดงต้องร่วมกันวิเคราะห์ ร่วมกันคิด ในความเห็นผม มีห้าประเด็น ผมจะขอร่วมแสดงความคิดในเรื่องนี้...... ปัญหาเฉพาะหน้าคือ

(1) ภัยจากการ “ปรองดอง” จอมปลอมของอำมาตย์ ที่จะไม่นำไปสู่การมีประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะความหมายแท้ของ “การปรองดอง” ที่อำมาตย์เสนอ คือการยอมแพ้ยอมจำนนของคนเสื้อแดง ดังนั้นชาวเสื้อแดงทุกคนต้องร่วมกันคิดว่า “การปรองดอง” ของเราจะหมายความว่าอะไร เราต้องมีมาตรฐานของข้อเรียกร้องพื้นฐานเฉพาะหน้าของฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อไปเปรียบเทียบกับข้อเสนอของเขา พูดง่ายๆ เราต้องมีเป้าหมายระยะสั้นที่ชัดเจน และเราต้องไม่รอให้ผู้นำเสื้อแดงหรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเป็นผู้กำหนดมาแต่ฝ่ายเดียว

(2) เราต้องไม่ตกหลุมหลงเชื่อว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” แบบถาวรจะแก้ปัญหา เพราะ“รัฐบาลแห่งชาติ(หมา)”เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด ไม่สะท้อนเสียงประชาชน มันเป็นข้อเสนอเพื่อดึงนักการเมืองพรรคเพื่อไทยเข้ามาร่วม โดยไม่มีอะไรอื่นเปลี่ยนแปลง และเพื่อบังคับให้คนเสื้อแดงหยุดเคลื่อนไหวและยอมจำนน

(3) เสื้อแดงทุกคน ในทุกชุมชนและกลุ่ม ต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า “ถ้านักการเมืองบางคนในพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่คุณทักษิณเอง เลือกที่จะปรองดองแบบยอมแพ้ เรามีการจัดตั้งเพียงพอที่จะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างอิสระได้หรือไม่?” ตรงนี้ความสามารถของเราที่จะเคลื่อนไหวอิสระ ขึ้นอยู่กับมุมมองทางการเมืองของเราต่อการปรองดอง การจัดตั้งล่วงหน้าแบบแกนนอน และความมั่นใจว่าเราต้องการอะไร

(4) การเลือกตั้งที่มีการโกงแบบแนบเนียน ทุกวันนี้อำมาตย์กำลังวางแผนที่จะชนะการเลือกตั้งในอนาคตให้ได้ “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” เราต้องรู้ทัน และหาทางข้ามปัญหานี้ และเราไม่ควรตั้งความหวังสูงเกินไปกับการเลือกตั้งภายใต้กติกาสองมาตรฐานของอำมาตย์

(5) ปัญหาการหมดกำลังใจของคนเสื้อแดง ความท้อและการหมดกำลังใจ มาจากการ “มองไม่ออกว่าเราจะชนะอย่างไร” เช่นถ้าเราตั้งความหวังไว้กับการเลือกตั้ง หรือตั้งความหวังว่าต่างประเทศจะช่วยเรา เราจะท้อ ถ้าเราเพ้อฝันว่าเราสามารถสร้างกองกำลังมาสู้กับทหาร ในที่สุดพอเราพูดเอามันจบไปแล้ว เราก็จะท้อ ถ้าเรามองว่าอำนาจอำมาตย์อยู่ในมือ “คนเดียว” (ซึ่งไม่จริง) เราก็จะท้อและกลัวเช่นกัน เราอาจรอการเกิดแก่เจ็บตายตามธรรมชาติ แต่ถ้าเราไม่มีแผนเคลื่อนไหวก็ท้อได้อีก ในความจริง ประชาธิปไตยจะถูกสร้างได้ก็ผ่านการเคลื่อนไหวของเราคนเสื้อแดง ไม่มีใครคนอื่นสร้างให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือเราต้องไม่มองข้ามจุดเด่นของเสื้อแดงที่มีอยู่ต่อหน้าต่อตาเราคือ (๑) เสื้อแดงฟื้นตัวและขยายการจัดตั้งแบบแกนนอนหลังการปราบปรามที่ราชประสงค์ ผ่านกิจกรรมแบบ “วันอาทิตย์สีแดง” และ (๒) เสื้อแดงหมดความศรัทธาในลัทธิอำมาตย์และสถาบันต่างๆ ของอำมาตย์ นี่คือสิ่งที่อำมาตย์กลัว และถ้าเราเข้าใจจุดเด่นของเราตรงนี้ เราจะเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนยังมีพลัง มันนำไปสู่ชัยชนะในระยะยาวได้ โดยเฉพาะถ้าเราพัฒนาการเคลื่อนไหว เช่นการขยายการจัดตั้งสู่สหภาพแรงงานให้นัดหยุดงาน และขยายสู่ระดับล่างของกองทัพ

คนที่ท้อตอนนี้ คือคนที่ไม่ให้ความสนใจ และไม่ร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมของเสื้อแดงที่เขาจัดกันอย่างต่อเนื่องภายในประเทศไทย ซึ่งมักจะเป็นคนที่ฟังแต่ข่าวลือเรื่องคนข้างบน และเล่นแต่อินเตอร์เน็ท หรือเป็นคนที่พอใจที่จะพูดแค่เอามันโดยไม่มีเป้าหมายในการเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรม

การมองว่าอำนาจอำมาตย์อยู่ในมือคนเดียว ตามที่ นปช. ยูเอสเอ หรือ อ.ชูพงษ์ เสนอ มีปัญหามาก เพราะทำให้เรามองว่าอำนาจนี้ใหญ่โตล้นฟ้าจนเราต้องยอมจำนน และทำให้เรามองข้ามความชั่วร้ายและอำนาจดิบของกองทัพ มันนำไปสู่การไม่สนใจที่จะยุบหรือปฏิรูปกองทัพอย่างถอนรากถอนโคน แต่ในความเป็นจริงทหารขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในแวดวงอำมาตย์ตั้งแต่หลัง ๒๔๗๕ และยังคงอำนาจนั้นไว้ เพียงแต่ว่าตั้งแต่ยุคสฤษดิ์มีการนำลัทธิกษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือของทหารอย่างเป็นระบบ เราจะสังเกตเห็นว่าคนที่พูดแบบ นปช. ยูเอสเอ หรือ อ.ชูพง์ ไม่ค่อยมีข้อเสนอรูปธรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวประจำวันของเสื้อแดงเลย และเขาจะไม่สนใจเป้าหมายกว้างๆ ในการทำให้ไทยเป็นประชาธิปไตยแท้ เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิแรงงาน การแก้ปัญหาภาคใต้ หรือการแก้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นต้น

เป้าหมายระยะสั้น (ข้อเรียกร้องพื้นฐานเฉพาะหน้า)

1. ปล่อยนักโทษการเมืองเสื้อแดงทุกคน

2. ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน และการเซ็นเซอร์สื่อทุกชนิด ต้องยุบ ศอฉ.และทหารต้องกลับกรมกอง ไม่ยุ่งการเมือง

รัฐบาลต้องลาออก และประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน และจัดการเลือกตั้งภายใต้ กกต. ที่เสนอจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เป็นกลาง

3. ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการฆ่าประชาชนที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมผู้ฆ่าประชาชน เหมือนที่เคยทำหลัง ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา และ พฤษภา ๓๕

4. ต้องประกาศว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมากกว่ายุคที่เราร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐

เป้าหมายระยะยาวในการสร้างรัฐไทยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

การที่เสื้อแดงจะมีเป้าหมายระยะยาวสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการครองใจประชาชนส่วนใหญ่ อย่างที่ไทยรักไทยเคยทำ ในอดีต และมันทำให้เราชัดเจนว่าเรากำลังต่อสู้เพื่ออะไรอีกด้วย

1. ประเทศไทยควรเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ผ่านการเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราก้าวหน้า

2. ต้องยุบกองทัพและปลดนายพล เพื่อปฏิรูปทหารแบบถอนรากถอนโคนและสร้างใหม่ในรูปแบบประชาธิปไตย

3. ต้องปลดศาลและผู้พิพากษาสองมาตรฐาน เพื่อปฏิรูประบบยุติธรรมอย่างถอนรากถอนโคน โดยนำพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในระบบลูกขุน

4. ต้องส่งเสริมวัฒนธรรมพลเมือง ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ต้องไม่มีกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพฯ และประชาธิปไตยต้องปลอดจากอำนาจอำมาตย์หรืออภิสิทธิ์ชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

[English: http://links.org.au/node/2020]